Another Monster - ตอนที่ 0.4
ตุลาคมปี 1999 คอทมันน์ทำผิดพลาดครั้งใหญ่เมื่อเขาบุกทำร้ายคู่รักคู่หนึ่งที่โรงหนังแบบไดร์ฟอินในชนบท เขาไม่ทันได้สังเกตเห็นสุนัขโดเบอร์แมนในรถของพวกเขา หลังจากถูกกัดเป็นแผลลึกที่น่อง คอทมันน์วิ่งกลับไปที่รถของเขาและหลบหนีไป แต่กลับขับไปเจอกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ คอทมันน์พยายามสลัดตำรวจให้หลุดด้วยการขับไปทางเมืองไมเออร์ลิ่ง ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับเวลาแล้วก่อนที่เขาจะถูกจับ…
แต่ท้ายที่สุด ทั้งหมดที่ทางตำรวจพบก็มีเพียงรถตู้ของเขาเท่านั้น คอทมันน์ทิ้งรถของเขาและแอบขึ้นรถไฟหนีไป คอทมันน์หลบซ่อนตัวเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ก่อนที่จะปรากฎตัวอีกครั้งที่การฆาตกรรมในเมืองซาลซ์บูร์ก…
ตำรวจรีบชี้ให้เห็นถึงความโชคดีอย่างไม่น่าเชื่อของคอทมันน์ มันยากที่จะอธิบายว่าเขาใช้วิธีการอะไรในการหลบหลีกการตามจับของทางการ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับผู้ชายสูงสองเมตรกว่าและหนักกว่าร้อยกิโลในการใช้ยานพาหนะเช่นรถบัส,รถไฟ,หรือการโบกรถ แล้วหลบหนีไปโดยไม่มีใครสังเกตเห็น
ยิ่งเป็นปริศนาไปมากกว่านั้นคือถึงแม้ว่าตำรวจทั่วทั้งออสเตรียและแม้กระทั่งเยอรมนีได้รับรายงานการพบเห็นชายต้องสงสัยมากกว่าสามหมื่นรายงาน แต่ก็ไม่มีคนใดเลยที่ตรงกับชายที่พวกเขากำลังตามหาอยู่
คอทมันน์ไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน? เขาเดินทางยังไง? และเขาฉลาดมากพอที่จะทำอะไรทั้งหมดนี้ด้วยตัวเองจริงๆหรือ?
มันช่วยไม่ได้ที่ผมจะมีความรู้สึกว่าคอทมันน์อาจจะทำงานร่วมกับผู้สมรู้ร่วมคิด แต่ตำรวจก็ปัดตกทฤษฎีนี้ทิ้งไป ตำรวจยืนยันว่าการก่อเหตุของเขาเป็นฝีมือของคนๆเดียวอย่างชัดเจน คอทมันน์ฆ่าเหยื่อของเขาด้วยตัวเอง — นี่คือความจริงแท้แน่นอน งั้นถ้ามีคนให้ความช่วยเหลือเขาล่ะ?
นักสิบที่ดูแลคดีนี้ก็หัวเราะแล้วถามผมว่า “แสดงว่าคืนนั้นเขาถูกหมากัดและถูกตามไล่ล่า แล้วจู่ๆก็มีคนโผล่มาช่วยเขาแบบปฏิหารย์เนี่ยนะ?”
อันที่จริง ทฤษฎีที่ผมยกมานี้มันก็คือแบบเดียวกับตอนจบของเล่มที่ห้าของดอร์นในความมืดมิด… ดอร์นผู้แตกสลายและพ่ายแพ้ถูกช่วยเหลือโดยการปรากฎตัวของจอมเวทย์ลึกลับ…
ในตอนนี้ผมอยากจะเล่าถึงเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกันแต่เกิดเมื่อหนึ่งอาทิตย์ก่อนการฆาตกรรมหมู่ที่โรงพยาบาลเซนต์อูร์ซูล่า
เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในช่วงกลางดึกของวันที่ 7 พฤศจิกายน และเรื่องนี้ก็ขึ้นที่คลีนิคฉุกเฉินเซนต์อูร์ซูล่าด้วยเช่นกัน เจ็ดวันก่อนการฆาตกรรมหมู่ เมื่อประมาณตีสอง ชายคนหนึ่งเข้ามายังแผนกฉุกเฉิน เมื่อเขาถอดเสื้อโค้ทออก เขาไม่ได้ใส่เสื้อแจ็คเก็ทข้างในแต่เป็นเพียงเสื้อเชิ้ทสีขาวที่เปื้อนเลือดตรงแขนเท่านั้น ชายคนนี้เป็นเซลล์ที่กำลังเดินทางไปเมืองอินส์บรุคและปืนที่เขาพกไว้สำหรับป้องกันตัวก็เกิดลั่นขึ้นมาในรถและโดนเขาที่แขน กระสุนทะลุผ่านแขนเขาไปและเขาอยากให้แพทย์ช่วยห้ามเลือดให้เขาหน่อย
แผนกต้อนรับที่ทำงานในวันนั้นก็คือ ฮันนา รูเพลชเทอร์, แพทย์เวร แอนสท์ เเลร์เนอร์ และพยาบาลผู้มาทำหน้าที่แทนนางพยาบาลอีกคน(ที่ตอนนั้นลาพักร้อนอยู่) โรสมารี เบิร์ก — ยกเว้นแต่เพียงแพทย์อินเทิร์น พอล ฮอช เท่านั้นที่ไม่ได้อยู่ ส่วนคนอื่นล้วนเป็นคนเดียวกันกับคนในโศกนาฏกรรมที่จะเกิดในอีกเจ็ดวันถัดมา
ดร.แลร์เนอร์และเบิร์กเอ็กซ์เรย์แขนของชายคนนั้นและไม่พบกับร่องรอยของกระสุนที่ฝังอยู่ และหลังจากยืนยันว่าเส้นเลือดแดงไม่ได้รับความเสียหายใดๆ พวกเขาก็จัดการทำความสะอาดและเย็บแผล ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงสามสิบนาทีเท่านั้น ดร.แลร์เนอร์กระซิบบอกรูเพลชเทอร์ว่ามันคงเป็นความคิดที่ดีที่จะแจ้งตำรวจเผื่อไว้ก่อน
แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึง ชายคนนั้นก็หายตัวไปจากห้องรอตรวจแล้ว ตำรวจกระจายข่าวไปทั่วพื้นที่ แต่ก็ไม่มีการรายงานถึงอุบัติเหตุที่เกียวข้องกับปืนเลย และไม่มีการพบเห็นรถของชายคนนั้นที่สถานีรถไฟใดๆก็ตามที่มุ่งหน้าไปยังเมืองอินส์บรุค…
เหตุการณ์ที่สองที่ผมจะเล่านั้นเกิดขึ้นในอีกสองวันถัดมาในวันที่ 9 ในย่านที่เงียบสงบที่สุดของนอนน์เบิร์กที่ชื่อกิล์มกัสเซอ ออยเกน มอลเค่อ ชายแก่ผู้สันโดษในวัย 70 กว่าปีที่อาศัยอยู่ที่ถนนที่สาม ถูกพบเป็นศพในสภาพถูกยิงเข้าที่ขมับ ร่างของเขาถูกพบโดยทนายในพื้นที่ที่มักจะแวะมาเยี่ยมมอลเค่
หลังจากชันสูตรศพแล้ว แพทย์สรุปว่ามอลเค่ยิงตัวตายเมื่อราวๆสี่ทุ่มของวันที่ 6 พฤศจิกายนด้วยปืนพกของเขาเอง จากความเห็นของแพทย์นี้บวกกับพินัยกรรมที่พบที่มุมของชั้นหนังสือและความจริงที่ว่าเขากำลังมีปัญหาโรคหัวใจ ทำให้ตำรวจสรุปการเสียชีวิตของเขาว่าเป็การฆ่าตัวตาย
ในตอนที่ทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ไม่มีใครคาดคิดว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้มีความเชื่อมโยงกันแม้แต่น้อย…
ต่อมาเมื่อตำรวจเมืองซัลทซ์บูร์กตรวจสอบประวัติครอบครัวของมอลเค่อ พวกเขาก็พบกับอดีตที่น่าประหลาดใจ — นั่นคือเขานั้นไร้ซึ่งอดีต ออยเกน มอลเค่อ ย้ายมายังย่านกิล์มกัสเซอเมื่อสิบปีก่อนจากคำบอกเล่าของเพื่อนบ้าน “หลังจากที่ภรรยาของเขาเสียชีวิต เขาก็ย้ายออกจากอพาร์ทเมนท์ใกล้ๆกับสถานีรถไฟที่เขาอาศัยมาหลายปีและย้ายมาที่นี่ เขาเคยเป็นครูคณิตศาสตร์”
ทว่าในพื้นที่ที่ควรจะเป็นที่ๆเขาเคยอาศัยอยู่ ไม่มีใครที่จำชายที่ชื่อมอลเค่อได้เลย และชื่อของเขานั้นก็ไม่ปรากฎในเอกสารใดๆ นอกจากนี้เงินในบัญชีที่เหลืออยู่ของเขาก็มากเกินไปสำหรับครูคณิตศาสตร์เกษียณคนหนึ่ง และยิ่งไปกว่านั้น หลังจากตรวจสอบประกันสังคมและพาสปอร์ตของเขาแล้ว ตำรวจพบว่าออยเกน มอลเค่อนั้นตายไปเมื่อเจ็บสิบปีก่อนตอนอายุได้เพียงหกเดือน และถูกฝังไว้ที่สุสานในเมืองลันเด็คตั้งแต่นั้นมา…
หลังจากที่ชันสูตรศพและพบแผลเป็นที่บ่งบอกถึงการศัลยกรรมที่จมูกและแก้มของมอลเค่อ ตำรวจก็เริ่มที่จะสืบค้นประวัติเบื้องหลังของมอลเค่ออย่างจริงจัง และหลังจากที่ทางตำรวจเก็บลายนิ้วมือของมอลเค่อและไม่ตรงกับข้อมูลใดๆที่มีในประเทศเลย พวกเขาจึงขอร้องอินเตอร์โพล(องค์กรตำรวจสากล)ในการขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ
ท้ายที่สุดพวกเขาก็เจอคนที่ลายนิ้วมือตรงกัน: ยาโรสลาฟ ชาเร็ค — อดีตหนึ่งในที่ปรึกษาระดับสูงของบริษัทการค้าต่างประเทศของรัฐบาลเชกโกสโลวาเกีย หรือออมนิโพล
ผมคิดว่ามันคงจำเป็นที่จะอธิบายเกี่ยวกับออมนิโพลให้ผู้อ่านได้รู้จัก เอาเป็นว่าออมนิโพลนั้นคือองค์กรที่อยู่ด้านบนๆของรายชื่อองค์กรที่ถูกอเมริกาและอังกฤษกดดันให้เปิดเผยข้อมูลหลังจากการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก
การวางระเบิดเครื่องบินของสายการบินแพนอเมริกันเหนือเมืองล็อกเกอร์บี สก็อตแลนด์ ในวันที่ 21 ธันวาคม 1986 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 250 ชีวิตนั้นเป็นฝีมือของกลุ่มก่อร้ายชาวปาเลสไตน์โดยใช้ระเบิดพลาสติกเซ็มเทกซ์ที่ได้มาจากประเทศลิเบีย แต่ระเบิดเหล่านี้ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมากและส่งออกไปยังลิเบียโดยไม่ใช่ใครอื่นใดนอกจากออมนิโพลในเชกโกสโลวาเกีย
อเมริกาและอังกฤษนั้นสงสัยออมนิโพลว่าสนับสนุนผู้ก่อการร้าย — จัดหาอาวุธให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายรวมถึงการจัดตั้งค่ายฝึกผู้ก่อการร้ายและส่งผู้ก่อการร้ายออกไปทำหน้าที่
สิบสองปีก่อนในปี 1989 เชกโกสโลวาเกียได้กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยหลังจากการปฏิวัติกำมะหยี่ มันเป็นชัยชนะของนักเคลื่อนไหวใต้ดินที่ต่อสู้มานานกว่าสามสิบปีตั้งแต่เหตุการณ์ปรากสปริง แต่มันคงจะเป็นเรื่องยากในการอธิบายถึงการกดขี่อันรุนแรงจากระบอบคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น
และเช่นเดียวกับรัฐบาลโซเวียตและเยอรมนีตะวันออก รัฐบาลเชคโกสโลวาเกียวางแผนอย่างต่อเนื่องถึงการกำจัดทั้งประเทศและโลกแห่งเสรีนิยมภายนอก หนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมในแผนนี้คือ ชาเร็ค ผู้หลบหนีออกจากประเทศหลังจากการล่มสลายของคอมมิวนิสต์
ตามข้อมูลจากกรมตำรวจเช็ก ก่อนที่ชาเร็คจะกลายมาเป็นที่ปรึกษาระดับสูงที่ออมนิโพล เขาเคยเป็นหัวหน้าของหน่วยตำรวจลับมาก่อนและเป็นผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดตั้งค่ายฝึกผู้ก่อการร้ายในเชกโกสโลวาเกียเป็นจำนวนมาก ในปี 1990 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเสรีเป็นครั้งแรก พรรคสภาประชาชนที่ได้เสียงข้างมากก็ได้ออกหมายจับชาเร็ค แต่ชาเร็คนั้นหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย อเมริกาและอังกฤษยังคงผลักดันการจับกุมตัวชาเร็คต่อไปแม้หลังจากเช็กและสโลวาเกียแยกตัวแล้ว แต่ที่อยู่ของเขาก็ไม่เคยถูกเปิดเผย
ตำรวจซาลซ์บูร์กที่ตกใจกับกับตัวตนที่แท้จริงชายแก่ปริศนาธรรมดาคนหนึ่งก็รื้อฟื้นการสืบสวนใหม่ตั้งแต่ต้นอย่างตั้งใจ หลังจากการตรวจร่างของเขาอย่างละเอียดอีกครั้ง ร่องรอยของเทปกาวก็ถูกพบที่บริเวณปากและหลังมือของเขา ห้องนั่งเล่นที่พบศพของชาเร็คนั้นถูกทำความสะอาดจนสะอาดเอี่ยมและผนังก็มีร่องรอยการปกปิดรอยกระสุน ถึงแม้ว่าหัวกระสุนนั้นจะถูกเอาออกไปแล้วก็ตาม
ทางตำรวจยอมรับถึงความผิดพลาดและเปลี่ยนคดีนี้เป็นคดีฆาตกรรม จากนั้นพวกเขาก็เสนอลำดับเหตุการณ์ที่เป็นไปได้นี้ขึ้นมา
เมื่อเวลาประมาณสองทุ่มของคืนวันที่ 6 ใครบางคนบุกเข้าไปในบ้านของมอลเค่อ (ชาเร็ค) เขาคนนั้นขู่ชาเร็คด้วยปืนและบังคับให้ชาเร็คเขียนบันทึกที่จะใช้เป็นพินัยกรรม สัมผัสได้ว่าเขาอาจจะโดนฆ่า ชาเร็คจึงยิงปืนเบเรตต้า M21A ที่เขาซ่อนไว้ใส่ผู้บุกรุก มีความเป็นไปได้สูงว่าผู้บุกรุกจะบาดเจ็บ แต่ก็คงไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผู้บุกรุกทำให้ชาเร็คจนมุมได้แล้ว เขาใช้เทปกาวเพื่อจัดมือของชาเร็คให้อยู่กับที่ ในสภาพกำปืน จ่อที่หัวของตัวเอง
ตอนนี้อย่างเดียวที่ผู้บุกรุกต้องทำคือเหนี่ยวไกและหลังจากที่ยืนยันว่าชาเร็คตายจริงแล้วก็แกะเทปออกและลบร่องรอยของว่าเคยมีบุคคลอื่นอยู่ในห้องออกไป เราไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุคนนี้เป็นใคร แต่เขาเป็นมืออาชีพอย่างแน่นอน
ท้ายที่สุดตำรวจซาลซ์บูร์กก็มุ่งเป้าไปที่ชายผู้ซึ่งปรากฏตัวที่โรงพยาบาลเซนต์อูร์ซูล่าเมื่อเวลา 2:00 น. ของวันถัดจากการฆาตกรรม ตอนนี้เป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วนับตั้งแต่การฆาตกรรมของชาเร็ค — แต่คนทั้งสามคนที่สามารถระบุตัวชายคนนี้ได้นั้นกลับถูกฆ่าตายด้วยขวานเสียแล้ว…
ตำรวจเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องระหว่างการฆาตกรรมชาเร็คกับชายที่มีบาดแผลกระสุนซึ่งปรากฏตัวที่โรงพยาบาล แต่พวกเขาไม่รู้ความเชื่อมโยงระหว่างชายผู้ก่อเหตุคนนี้กับคอทมันน์ ความจริงที่ว่าพยานทั้งสามถูกฆาตกรรมถือเป็นเรื่องบังเอิญที่โชคร้าย เหตุผลของพวกเขาคือ: คนที่ฆ่าชาเร็คเป็นผู้ก่อการร้ายที่ได้รับการฝึกฝนและคนประเภทนี้ไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับฆาตกรต่อเนื่อง คอทมันน์เป็นคนประเภทที่ทำตามความปรารถนาและแรงกระตุ้นของเขาและไม่ใช่คนประเภทที่จะลงมือฆาตกรรมตามคำขอของผู้อื่นและฆ่าตัวตายในภายหลังเพื่อปิดคดี — ซึ่งก็สมเหตุสมผล
แต่ทางตำรวจไม่มีคำตอบให้สำหรับคำพูดสุดท้ายของคอทมันน์: “หนึ่ง, สอง, สาม… ภารกิจของฉันเสร็จแล้ว”
ภาพประกอบจากในหนังสือดอร์นในความมืดมิด ด้วยข้อความที่สลับไปมาระหว่างความดีและความชั่ว หนังสือชุดดอร์นจึงมีผู้อ่านวัยรุ่นคลั่งไคล้เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากความรุนแรงและเนื้อหาทางเพศที่รุนแรง หนังสือนี้จึงถูกนักวิจารณ์เรียกอย่างเย้ยหยันว่าเป็น “วรรณกรรมกระดาษคุณภาพต่ำที่เย้ายวนใจที่สุด”
ทฤษฎีของผมนั้นเป็นอย่างนี้
ชายที่เข้าไปที่โรงพยาบาลพร้อมกับแขนที่บาดเจ็บคือชายผู้ที่ฆ่าชาเร็ค เขาหวังว่าแพทย์จะไม่แจ้งเรื่องของเขากับตำรวจ แต่เขาก็มีแผนสำรองอยู่ถ้ามีการแจ้งตำรวจจริง ถ้าการปกปิดการตายของชาเร็คไปได้ดีและตำรวจตัดสินว่าเป็นการฆ่าตัวตาย เขาก็จะไม่ต้องใช้แผนนี้ แต่เพราะมาตรการที่ชาเร็คใช้ปิดบังตัวตนยังไม่ดีมากพอ ตำรวจจึงมองเห็นถึงฝีมือของเขา ดังนั้นเขาจึงต้องหันไปหาแผนสำรองของเขา แผนนั้นมีมือขวานคอทมันน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ด้วยเหตุผลบางอย่าง เขารู้จักตัวตนของคอทมันน์ และเขาได้เล่นบทบาทเป็นจอมเวทย์ปริศนาผู้นั้น เขาช่วยคอทมันน์ที่กำลังหลบหนีและถูกสุนัขโดเบอร์แมนกัดแล้วซ่อนเขาไว้ตลอดทั้งปี คอทมันน์จินตนาการว่าตัวเองสวมบทบาทเป็นดอร์น และอยู่หลบซ่อนจากสายตาของตำรวจ ในที่สุดเมื่อชายคนนั้นได้มอบคำสั่งให้เขา, “ภารกิจ” ของเขา, เขาก็รับงานนี้ด้วยความยินดียิ่ง… ภารกิจการสังหารพยานทั้งสาม นั่นจึงอธิบายได้ว่าทำไมแพทย์อินเทิร์นพอล ฮอช ถึงไม่ถูกฆ่า
ภาพที่ผมนึกคือภาพของฆาตกรคนหนึ่งที่พบกับฆาตกรอีกคนหนึ่ง ทำให้เขาเชื่อใจ แล้วจากนั้นก็ควบคุมเขา จากนั้นก็ใช้ฆาตกรคนนี้ในการฆ่าคนเพิ่มอีก ก่อนที่จะบังคับให้ฆาตกรคนนั้นลบตัวเองออกไปจากโลกในที่สุด
การร่วมมือกันของนักฆ่ามืออาชีพกับฆาตกรต่อเนื่อง… อย่างที่ตำรวจบอก มันเป็นการร่วมมือที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด ตัวของผมเองก็อาจละเลยความเป็นไปได้นี้ในตอนแรก
แล้ว มีคดีที่เหมือนเป็นแบบอย่างของเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่?
มี
คดีที่สะเทือนขวัญไปทั่วทั้งเยอรมนีในปี 1998…
เนื่องจากผู้อ่านที่เฉลียวฉลาดของผมคงจะรู้อยู่แล้วว่า หนังสือเล่มนี้คือความพยายามของผมที่จะตรวจสอบเหตุการณ์เหล่านั้นในเยอรมนีอีกครั้ง และเพื่อฉายแสงในบางแง่มุมที่ยังไม่ชัดเจนและในขณะเดียวกันก็เปิดโปงการมีอยู่ของปีศาจตัวอื่นที่ซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสักแห่งในออสเตรีย เยอรมนี หรือบางทีอาจจะเป็นที่ใดก็ได้ในยุโรป — ใครบางคนที่น่าจะได้รับการศึกษาแบบเดียวกับปีศาจแห่งเยอรมนีคนนั้นได้รับ
ผมขอยอมรับมาตรงที่นี้ว่า คดีนี้ในเยอรมนียังคงไม่ถูกเปิดเผยออกมาทั้งหมด เช่นเดียวกับคดีนี้ในออสเตรียที่ยังคงเป็นปริศนาอยู่
…บางทีคดีพวกนี้ยังคงดำเนินต่อไปแม้กระทั่งทุกวันนี้