Another Monster - ตอนที่ 12 ช่วงที่ 2: เช็กและเยอรมนี
ช่วงที่สอง (1997-1998)
บทที่ 12: Czech and Germany
(กรกฎาคม ปี 2001; ปราก)
โยฮัน, เทนมะ, นีน่า… สามตัวละครหลักในเรื่องของเราเดินทางจากมิวนิคไปยังกรุงปรากในสาธารณรัฐเช็กเพื่อตามหาความทรงจำที่สูญหายไป ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ที่เคยไปปรากมาก่อนคงจะเข้าใจได้ว่าทำไมทั้งโยฮันและนีน่าจึงเรียกนครแห่งนี้ว่า “ดินแดนแห่งเทพนิยาย” เมื่อผมได้เห็นภาพของจัตุรัสย่านเมืองเก่าที่ส่องสว่างในยามค่ำคืน ผมเห็นภาพหลอนไปว่าผมกำลังอยู่ที่ดิสนีย์แลนด์เสียอีก เข้าใจได้เป็นอย่างดีเลยว่าทำไมชาวยุโรปถึงเรียกที่นี่ว่าเป็นสถานที่ที่งดงามที่สุดในยุโรป
ผมเข้าพักที่โรงแรมเบทเทิลไฮม์ใกล้กับสะพานชาร์ลส์และเริ่มต้นค้นหาร้านหนังสือมือสองในเมืองเพื่อตามหาหนังสือภาพต้องคำสาปพวกนั้น — เหล่างานเขียนของเอมิล เชเบ้, เคลาส์ พ็อพเป้, ยาคอบ ฟาโรเบคและฟรานซ์ โบนาพาร์ต้า
หลังจากไม่มีโชคที่ร้านใกล้ๆโรงแรมและอีกฝั่งของสะพานชาร์ลส์ ผมเลยโทรหาสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือภาพเป็นหลัก และในที่สุดก็ได้หนังสือปีศาจไร้ชื่อ, เทพเจ้าแห่งความสงบสุข และเล่มอื่นๆมา
ต้องขอยอมรับว่าผมไม่เห็นว่างานภาพจะมีเอกลักษณ์อะไรขนาดนั้น จริงๆแล้วมันดูเหมือนๆกันหมดด้วยซ้ำ แต่ชาวเยอรมันและชาวเช็กคนใดก็ตามที่อ่านหนังสือของเขาคงจะสังเกตเห็นได้ทันที
ถ้าเราไม่สนใจสารลึกลับของผู้แต่งที่ซ่อนเอาไว้ ความเหมือนอีกอย่างที่หนังสือทุกเล่มมีคือชื่อของตัวละครภายในเรื่อง เริ่มด้วยโยฮัน แล้วก็ออตโต้, ฮันส์… ชื่อเยอรมันธรรมดาๆทั่วๆไปถูกใช้ในเรื่อง แต่พวกชื่อเช็กธรรมดาๆอย่างเช่น ยาน, มิลอส และพาเวลกลับไม่มีให้เห็นเลย มันก็ดูค่อนข้างชัดเจนที่ทั้งเทนมะและสารวัตรลุงค์เก้ตั้งสมมุติฐานว่าเคลาส์ พ็อพเป้ ชื่อเยอรมันหนึ่งเดียวในนามปากกามากมายของผู้แต่งนั้นอาจจะเป็นชื่อจริงๆของเขาก็ได้
ผู้แต่งนั้นเป็นชาวเยอรมันกลุ่มน้อยในสาธารณรัฐเช็ก หรือชาวเช็กเชื้อสายเยอรมัน
พอถึงตอนนี้ ผมคิดว่ามันคงจะมีประโยชน์อย่างมากเป็นแน่ต่อผู้อ่านส่วนใหญ่กับการได้มองลึกเข้าไปในประวัติศาสตร์เบื้องหลังอันซับซ้อนของสาธารณรัฐเช็ก — โดยเฉพาะโบฮีเมีย — และเยอรมนี
——————–
ในตอนแรกเริ่ม ดินแดนโบฮีเมียนั้นมีชาวโบอีตั้งถิ่นฐานอยู่ในช่วงราว 150 ปีก่อนค.ศ. พอถึงช่วง 60 ปีก่อนค.ศ ชาวโบอีก็ถูกแทนที่โดยกลุ่มชาวเจอร์มานิคที่จะปกครองดินแดนแห่งนี้จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ที่พวกเขาอพยพย้ายถิ่นไปยังบาวาเรียแทน หลังจากนั้น กลุ่มชาวสลาฟสามกลุ่มได้แก่ พวกเช็ก, พวกโมราเวีย และพวกสโลวาเกียก็มาตั้งรกรากในดินแดนแห่งนี้แทน
เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชาวเช็กก็ได้ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในดินแดนนี้และก่อตั้งราชอาณาจักรโบฮีเมียซึ่งปกครองโดยราชวงศ์เพรมิสลิดขึ้น แต่ทางตะวันออกนั้นมีจักรวรรดิฮังการี (แม็กยาร์) อันยิ่งใหญ่อยู่ ทำให้ราชวงศ์ถูกบีบบังคับให้ร่วมมือทางการทหารกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวเยอรมันเพื่อป้องกันการถูกรุกราน ตอนนี้เชื้อสายของราชวงศ์เพรมิสลิดได้รับใช้กษัตริย์แห่งเยอรมนีและสันตะปาปาในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ในช่วงศตวรรษที่ 12 วลาดิสลาฟที่ 2 ก็ได้รับดินแดนออสเตรียมาและเริ่มต้นยุคสมัยใหม่แห่งความเจริญรุ่งเรือง
แน่นอน, ในทางปฏิบัติแล้วพวกเขายังคงถูกปกครองโดยเยอรมนี ดังนั้นมันไม่ยากเลยที่จะจินตนาการถึงการดิ้นรนเพื่อเอกราชของชาวเช็กที่ท้ายที่สุดได้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 15
ดินแดนโบฮีเมีย สถานที่ที่ทั้งชาวเช็กและเยอรมันต่างเกลียดกันและกัน พื้นที่แห่งนี้มีความเกลียดชังระหว่างสองเชื้อชาติมาอย่างยาวนาน นี่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่จำเป็นต้องพูดถึงเพื่อให้สามารถอธิบายการถือกำเนิดของปีศาจคนนั้นได้
——————–
ในศตวรรษที่ 16 ดินแดนชาวเช็กแห่งนี้ตกอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก — การปกครองที่ยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ — และในศตวรรษที่ 17 การเริ่มสงครามสามสิบปีโดยชนชั้นสูงชาวเช็กก็ได้นำไปสู่การกดขี่อย่างรุนแรงจากราชบัลลังก์ฮับส์บูร์กและการลดระดับเช็กเหลือเพียงดินแดนแห่งหนึ่งของออสเตรีย
กว่าที่การเรียกร้องเอกราชให้กับเช็กนั้นจะกลับมาอีกครั้งก็ในศตวรรษที่ 19 เนื่องด้วยผู้นำอย่างพาลัทสกี้และมาซาริคและด้วยการเบ่งบานของสำนึกความเป็นชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาวเช็กก็สามารถตั้งรัฐอธิปไตยของตัวเอง — เชกโกสโลวาเกีย ได้สำเร็จ
ส่วนประวัติศาสตร์เมื่อมองจากมุมมองของชาวเยอรมันก็เป็นดังนี้ การขยายดินแดนของชาวเยอรมันไปยังตะวันออกดั้งเดิมนั้นเกิดในศตวรรษที่ 10 เป็นเวลาสั้นๆในยุคสมัยของชาร์เลอมาญ พวกเยอรมันตั้งถิ่นฐานในดินแดนและพอถึงศตวรรษที่ 12 ผู้ปกครองของราชวงศ์เพรมิสลิดแห่งดัชชีแห่งโบฮีเมียก็เชิญชวนชาวเยอรมันเข้ามาในดินแดนอย่างจริงจังเพื่อมาช่วยในการเพาะปลูกและทำให้ดินแดนนี้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
ชาวเยอรมันกลุ่มแรกๆที่มาคือเหล่าคนงานเหมืองและชาวนาที่ถูกดึงดูดโดยภูเขาที่อุดมด้วยแร่เงินและดินอันอุดมด้วยแร่ธาตุของเช็ก ต่อมาก็มาซึ่งนักบวช, นักวางผังเมือง, พ่อค้าและช่างไม้ หลังจากนั้นเมืองของชาวเยอรมันก็ถือกำเนิดขึ้น — ในดินแดนโบฮีเมียใกล้กับพรมแดนของเยอรมนี โปแลนด์ และออสเตรียในปัจจุบัน
แม้ว่าผู้อพยพชาวเยอรมันเหล่านี้จะมาจากหลายพื้นที่ เช่น ฟริเซีย, บาวาเรีย, แซ็กซอน, ซวาเบีย, สติเรียและออสเตรีย แต่ชาวเช็กก็เรียกพวกเขาทั้งหมดอย่างรวมๆว่าพวกทิวทันส์ แต่พวกเขาเองเรียกตัวเองว่าชาวซูเดเต็นเยอรมัน (Sudetendeutsche) ตามชื่อภูเขาซูเดเต็นตรงพรมแดนโปแลนด์
ในศตวรรษที่ 14 เมื่อชาร์ลที่ 4 แห่งลักเซมเบิร์ก ผู้ปกครองของเช็กได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเช็กและผู้อพยพชาวเยอรมันก็ได้รับผลกระทบ ชาวซูเดเต็นเยอรมันมีอิทธิพลและอำนาจทางการเมืองอย่างรวดเร็วและเริ่มครอบงำชาวเช็กทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง
ในศตวรรษที่ 15 สงครามฮุสไซต์คือการกบฏของชาวเช็กต่อชาวเยอรมันเป็นครั้งแรก และในศตวรรษที่ 17 สงครามสามสิบปีก็เป็นการรบเพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างราชวงศ์ฮับส์บูร์กของออสเตรียกับบรรดาชนชั้นสูงของเช็ก ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของชาวเช็ก ทำให้ชาวเช็กตกอยู่ใต้การปกครองของชาวเยอรมันและชาวออสเตรียอย่างสมบูรณ์ แม้กระทั่งภาษาของพวกเขาก็ๆค่อยถูกแทนที่ด้วยภาษาเยอรมัน
แต่ในศตวรรษที่ 19 อิสรภาพและเอกราชของเช็กก็ใกล้เข้ามาจากการที่ราชวงศ์ฮับส์บูร์กอ่อนแอลง ในขณะเดียวกัน ชาวซูเดเต็นเยอรมันก็พยายามผลักดันให้ดินแดนของตนกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษนั้นส่งผลดีต่อชาวเช็กด้วยการทำให้สินทรัพย์ทุนของพวกเขาเพิ่มยิ่งขึ้น เมื่อเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรัพย์สินจำนวนมากของเช็กนี้เองที่ช่วยหนุนหลังทำให้พวกเขาประกาศเอกราชได้สำเร็จ
เนื่องจากการรวมตัวกันของชาวเช็กและชาวสโลวักและการถือกำเนิดของรัฐชาติของชาวสลาฟ ชาวซูเดเต็นเยอรมันก็กลับกลายเป็นชนกลุ่มน้อยอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลเชกโกสโลวาเกียนั้นใจกว้างอย่างมากถึงขั้นมอบสิทธิปกครองตนเองให้กับพื้นที่ซูเดเต็นแลนด์แต่พลเมืองชาวเยอรมันก็ยังคงไม่ชอบใจอยู่ดี ยังคงมีชาวเยอรมันกว่า 3.3 ล้านคนในโบฮีเมีย ดินแดนที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในด้านการผลิดและส่งออกแร่เงิน, ถ่าน, ยูเรเนี่ยม, โลหะ, เครื่องจักร, กระดาษ, สิ่งทอ, ผ้า และแก้ว
แผนการทวงคืนอำนาจของชาวซูเดเต็นเยอรมันมาพร้อมกับพรรคการเมืองเยอรมันที่ชื่อพรรคนาซีซึ่งเพิ่งก่อตั้ง ในเดือนมกราคมปี 1933 เมื่อไรซ์ที่สามได้ถูกก่อตั้งขึ้น นักการเมืองชาวซูเดเต็นเยอรมันที่ชื่อคอนราด เฮนไลน์ก็รีบสนับสนุนฮิตเลอร์อย่างรวดเร็วและขอความช่วยเหลือจากเขา ภายใต้ความคิดของการรวมชาติเยอรมันและการสนับสนุนจากการผนวกออสเตรีย พรรคซูเดเต็นเยอรมันก็ได้กลืนพรรคการเมืองเยอรมันอื่นๆในเชกโกสโลวาเกียไปทั้งหมด
——————–
คำอ้างสิทธิของฮิตเลอร์และเฮนไลน์นั้นเป็นดังนี้ ‘ชาวเยอรมันนั้นได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ซูเดเต็นมากว่า 700 ปี ดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐเยอรมันจนถึงกลางศตวรรษที่ 19 และดินแดนของออสเตรีย-ฮังการีจนถึงปี 1918 ดังนั้นแล้ว,ดินแดนนี้จึงเป็นของเยอรมนีมาอย่างยาวนาน’
ในปี 1938 เชกโกสโลวาเกียถูกบีบบังคับจากหลายประเทศที่กำลังหวาดกลัวให้เช็นข้อตกลงมิวนิคเพื่อที่จะเอาใจฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นการยกดินแดน 40% ประชากร 30 % และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเกือบครึ่งให้กับเยอรมนี เมื่อคุณมองภาพอันโด่งดังที่ผู้คนกำลังฉลองอย่างบ้าคลั่งเมื่อกองทัพของฮิตเลอร์เดินทัพเข้าสู่ซูเดเต็นแลนด์ หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่าทำไมผู้คนถึงมีความสุขขนาดนั้นทั้งๆที่ดินแดนกำลังโดนยึดครอง แต่หากคิดว่าผู้คนเหล่านี้มองว่าตัวเองเป็นเยอรมัน ไม่ใช่เช็ก, ทุกอย่างก็จะสมเหตุสมผลทันที
เมื่อมีนาคมปีถัดไปมาถึง ฮิตเลอร์ยืดครองทั้งเชกโกสโลวาเกียได้สำเร็จ และก็ไม่มีป้ายและจุดสังเกตใดๆที่เป็นภาษาเช็กในซูเดเต็นแลนด์อีกต่อไป
(รูปบน) สนธิสัญญาหยุดยิงระหว่างเช็กและเยอรมนีที่มีลายเซ็นของฮิตเลอร์
(รูปล่าง) ชาวซูเดเต็นเยอรมันต้อนรับการเดินทัพเข้าสู่โบฮีเมียของกองทัพนาซีอย่างบ้าคลั่งในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งต่อมามันจะนำไปสู่โศกนาฏกรรม…
——————–
แต่ความเจริญรุ่งเรืองของซูเดเต็นเยอรมันก็จบลงไปพร้อมๆกับความพ่ายแพ้ของไรซ์ที่สามในสงครามโลกครั้งที่สอง ณ การประชุมพอร์ทสดัม ได้มีการตัดสินใจว่าชาวเยอรมันทุกคนในดินแดนเช็ก — ราวๆ 2.4 ถึง 3.5 ล้านคน — จะถูกส่งกลับไปยังเยอรมนี ที่ดินที่พวกเขาเคยถือครองถูกยึดและพวกเขาก็ต้องจากไปโดยมีเพียงอะไรก็ตามที่สามารถถือไปด้วยได้เท่านั้น
ชาวซูเดเต็นเยอรมันจำนวนมาก — ราวๆ 20,000 ถึง 200,000 คน (แม้เราไม่อาจรู้ตัวเลขจริงๆก็ตาม) — ถูกทำร้ายและฆ่าเนื่องจากความเคียดแค้นต่อความโหดร้ายของเยอรมนีในช่วงสงคราม ความเกลียดชังนาซีที่ฝังรากลึกในทั้งสองประเทศนั้นถูกระบายออกมาที่ชาวซูเดเต็นเยอรมันโดยตรง
ความสัมพันธ์ระหว่างเช็กกับเยอรมนีนั้นกลายเป็นเรื่องซับซ้อนเสียจนต้องรอถึงปี 1997 ที่ทั้งสองประเทศได้หันหน้าคุยกันอย่างเป็นทางการและยอมรับถึงความอยุติธรรมของทั้งคู่ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง
แล้วเกิดอะไรขึ้นช่วงหลังสงครามกับชาวซูเดเต็นเยอรมันที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งโรจน์กัน? อ้างอิงจากสมาคมซูเดเต็นเยอรมันที่ก่อตั้งในปี 1949 และยังคงดำเนินงานมาถึงทุกวันนี้แล้ว 2 ล้านคนอาศัยอยู่ในเยอรมนีตะวันตกซึ่งครึ่งหนึ่งนั้นอยู่ในรัฐบาเยิร์น (บาวาเรีย) 800,000 คนอยู่ในเยอรมนีตะวันออก, 140,000 คนในออสเตรีย, 24,000 คนอาศัยอยู่โพ้นทะเลและอีก 240,000 คนที่เสียชีวิตระหว่างการถูกเนรเทศ
สิ่งที่ผมไม่อาจจะมองข้ามไปได้ในการสืบสวนคดีของโยฮันก็คือประวัติศาสตร์ของชาวเยอรมันกว่า 200,000 คนที่ไม่ได้ย้ายออกจากดินแดนเช็กหลังสงคราม แม้จะไม่ต่างจากเหล่าเพื่อนร่วมชาติผู้ถูกเนรเทศของพวกเขาตรงที่ทรัพย์สินถูกยึดและถูกเลือกปฏิบัติให้เหี่ยวเฉาตายไปหลังสงคราม ทว่าพวกเขาเหล่านั้นยังคงเลือกจะอาศัยในเชกโกสโลวาเกียต่อ
เป้าหมายหลักของผมในสาธารณรัฐเช็กคือการตามหารากเหง้าของชายผู้ลึกลับที่สุดคนนี้ ฟรานซ์ โบนาพาร์ต้า และก็เพื่อตามหาความจริงของข่าวลือที่ว่าพ่อของโยฮันนั้น อาจจะเป็นชาวเยอรมัน
ผมจะเริ่มด้วยเหตุการณ์น่าขนลุกที่โยฮันได้ทำเป็นอย่างแรกหลังจากที่เขาเดินทางไปยังสาธารณรัฐเช็ก