Another Monster - ตอนที่ 11 ยูลิอุส ไรช์ไวน์
บทที่ 11: Julius Reichwein
(มิถุนายน ปี 2001; มิวนิค)
คุณหมอไรช์ไวน์เป็นคนที่มีประวัติที่ไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง เขาเกิดเมื่อปี 1937 ใกล้กับถนนเทือกเขาแอลป์ในเมืองเคาฟ์บอยเรินในรัฐบาเยิร์น หลังจากที่เรียนจบจากโรงเรียนแพทย์มิวนิค — ที่ๆเขาเรียนสาขาศัลยกรรมพลาสติก — เขาก็ไปรับราชการทหารและเข้าร่วมกับกองกำลังตำรวจ และหลังจากที่เขาสำเร็จหลักสูตรแพทย์ตำรวจ เขาก็ไปเป็นศัลยแพทย์ตำรวจให้กับตำรวจตระเวนชายแดนและปฏิบัติงานที่ชายแดนเชกโกสโลวาเกียเป็นเวลาสิบสองปี
เขาลาออกจากตำรวจเมื่ออายุได้ 40 ปี จากนั้นก็ไปเรียนจิตวิทยาที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยดุสเซิลดอร์ฟ ซึ่งต่อมาเขาก็จะได้เป็นอาจารย์ของที่นี่ โรงเรียนแพทย์นี้เองที่เขาได้สอนเคนโซ เทนมะและรูดี้ กิลเลน
การตายของพ่อเมื่อเขาอายุ 50 ปีทำให้หมอไรช์ไวน์ต้องกลับมายังมิวนิคเพื่อรับมรดกที่เขาจะใช้เพื่อเปิดคลินิคส่วนตัวที่ยังคงทำมาจนถึงทุกวันนี้ ผมไปหาดร.ไรช์ไวน์ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาของเขาในย่านอพาร์ตเมนท์ทางฝั่งทิศเหนือของจัตุรัสมาเรี่ยน คุณหมอเป็นชายผู้เบิกบานและยิ้มแย้มและยังจับมือผมอย่างร่าเริงและทรงพลังอย่างน่าประหลาด เขารีบบอกให้ผมนั่งลงแล้วเขาก็หย่อนตัวลงบนเก้าอี้หลังโต๊ะของเขา
——————–
– ก่อนอื่นเลย ผมขอเริ่มที่คุณก่อน คุณมีภูมิหลังที่น่าสนใจมากเลยนะครับ ทำไมคุณถึงตัดสินใจไปเป็นตำรวจกันครับ?
“อาก็… พ่อของฉันเป็นนายตำรวจ เป็นประเภทพวกยศใหญ่เบิ้มเลยล่ะ ฉันรู้สึกทั้งชื่นชมและต่อต้านเขา ก็เพราะความต้องการที่จะแข่งกับเขา, ความปรารถนาที่จะรับใช้ผู้อื่น, และก็ความอยากจะฝึกวินัยของตัวเองนี่แหละที่ทำให้ฉันมาเป็นตำรวจ”
– แล้วช่วงเวลาที่คุณเป็นแพทย์ตำรวจเป็นยังไงบ้างครับ?
“มันยากลำบาก, แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีนะ มีความทรงจำดีๆหลายอย่าง มันไม่ใช่สงครามแต่ฉันก็เห็นการสู้รบหลายต่อหลายครั้งระหว่างที่ฉันอยู่ที่นั่น”
– คุณลาออกจากตำรวจตอนอายุ 40 แล้วก็กลับไปเรียนอีกครั้ง
“ฉันสนใจจิตวิทยาขึ้นมา ช่วงเวลาเหล่านั้นฉันเห็นผู้คนหลายคนทำผิดกฎหมาย… ฉันรู้สึกว่าฉันต้องเข้าใจให้ได้ว่าจิตใจของมนุษย์ทำงานอย่างไรเพื่อที่จะได้รู้ว่าทำไมพวกเขาถึงทำอย่างนั้น”
– หลังจากนั้นคุณก็ตัดสินใจอยู่ที่มหาวิทยาลัยนั้นต่อ แล้วก็ได้ใบอนุญาตอาจารย์ นี่คือที่ๆคุณได้พบกับดร.เทนมะและดร.กิลเลน
“ใช่แล้ว กิลเลนเขาอยู่ในสายงานเดียวกับฉัน ดังนั้นฉันเลยยังคงติดต่อกับกิลเลนหลังจากที่เขาจบไปแล้ว ส่วนมากที่ฉันจำเทนมะได้ก็จากคะแนนที่ยอดเยี่ยมของเขา แต่ฉันคงจะลืมเขาไปแล้ว ถ้าเขาไม่มาหนีจากกฎหมาย”
– อ้อ พอพูดถึงเรื่องนั้น คุณเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทั้งหมดพวกนี้ได้ยังไงกันครับ?
“มันคือการต่อสู้เพื่อแก้แค้นให้กับอดีตคนไข้ของฉัน อดีตนักสืบที่ชื่อว่าริชาร์ด เบราน์… เขาได้รับบาดแผลมามากจากคดีที่เขาดูแลอยู่ทำให้เขาดำดิ่งไปสู่การติดเหล้าจนท้ายสุดต้องออกจากกรมตำรวจ เขามาหาฉันเพื่อจะลุกขึ้นยืนอีกครั้ง, เพื่อจะเอาชีวิตของเขากลับมาอีกครั้ง เขาได้ความมั่นใจคืนมาและกำลังจะเอาชนะความอ่อนแอของตัวเองได้แล้ว งานใหม่ของเขาก็ไปได้สวย เขาถูกจ้างโดยฮันส์ ชูวัลด์ให้ทำหน้าที่นักสืบ แต่งานนั้นก็พาเขาไปสู่ความตาย”
ดร.ไรช์ไวน์ไม่เพียงแต่เป็นอดีตตำรวจเท่านั้น เขายังเรียนคาราเต้และยูโดด้วยเช่นกัน ชายผู้กล้าหาญ,อบอุ่นและเป็นกันเอง เข้าใจได้ดีเลยว่าทำไมเทนมะถึงได้ไว้วางใจเขา
——————–
ริชาร์ด เบราน์ คือนักสืบชั้นยอดของแผนกคดีฆาตกรรมแห่งกรมตำรวจมิวนิค ริชาร์ดกำลังตามล่าฆาตกรต่อเนื่องที่สร้างความสะพรึงกลัวไปทั่วมิวนิคจนสุดท้ายก็พบตัวชายคนนั้นที่มีชื่อว่า สเตฟาน โยสต์
เขารู้ตัวฆาตกรได้จากหมวกสกีไหมพรมอันหนึ่งที่ตกอยู่ในสถานที่ฆาตกรรรมหนึ่งของฆาตกร ริชาร์ดไล่ล่าโยสต์ไปตามสถานีเทเรซีนชตราสเซอและท้ายสุดก็ฆ่าเขาหลังจากการดวลปืนสุดน่ากลัว
นักสืบเบราน์ได้รับการยกย่องให้เป็นฮีโร่จากสื่อเป็นเวลาหนึ่งจากความดีความชอบที่ได้ทำ แต่ชีวิตของเขาก็พลิกผันไปทันทีด้วยจดหมายฉบับเดียวที่ถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ จดหมายไม่ระบุชื่อผู้ส่งฉบับหนึ่งถูกส่งมาโดยพยานการดวลปืนคนหนึ่งที่ยืนยันว่าโยสต์ถูกยิงอย่างเลือดเย็นหลังจากที่เขาทิ้งอาวุธและยกมือยอมแพ้แล้ว (แม้ว่าเราจะยังไม่รู้ตัวตนคนเขียนแต่ข่าวลือที่ฮิตกันก็คือไม่โยฮันก็คู่หูของเบราน์ที่อิจฉาเขา) กรมตำรวจจัดประชาพิจารณ์ขึ้นและรื้อฟื้นคดีใหม่โดยแลกกับการลาออกจากกรมของริชาร์ด เบราน์ และความจริงก็มืดมัวไปอีกครั้ง
ตัวของริชาร์ดเองก็ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์หลายแห่งและเปิดเผยว่าเขาไม่มีความทรงจำว่าเขายิงโยสต์อย่างไร ทำให้เขาไม่สามารถยอมรับหรือปฏิเสธคำกล่าวอ้างในจดหมายได้ ต่อมาหนังสือพิมพ์เจ้าหนึ่งก็เปิดเผยคำพูดจากคนในของกรมตำรวจที่บอกว่านอกเหนือจากการเป็นนักสืบผู้เก่งกาจแล้ว เบราน์ยังมีปัญหาติดเหล้าร้ายแรงอีกด้วยและนั่นทำให้มีโอกาสว่าเขาอาจจะอยู่ในสภาพมึนเมาทั้งตอนที่เขาไล่ล่าโยสต์และตอนยิงด้วย
คำตอบของนักสืบเบราน์ในเรื่องนี้นอกเหนือจากการยอมรับโรคติดเหล้าของเขาแล้วคือ ‘ไม่มีความเห็น’ — ขอย้ำอีกครั้ง, เนื่องด้วยเขาไม่มีความทรงจำในตอนเกิดเหตุ
สุดท้ายแล้ว นักข่าวหลายคนที่ได้รับความคุ้มครองจากตำรวจก็เขียนบทความปกป้องริชาร์ด เบราน์ — โดยยกย่องชมเชยความยุติธรรมและศีลธรรมอันแรงกล้าของเขา และกล่าวย้ำๆว่าเบราน์ไม่ใช่คนแบบ “จ่าแฮร์รี่ [TL: จากหนัง Dirty Harry]” ที่จะฆ่าคนที่ไม่มีอาวุธ, จะอาชญากรหรือไม่ใช่ก็ตาม…
ท้ายที่สุดหลังจากที่เสพข่าวของริชาร์ด เบราน์จนพอ ผู้คนแห่งบาเยิร์นก็เริ่มเลิกสนใจคดีนี้ไปและความจริงซึ่งยังไม่มีใครรู้ก็ไม่เคยถูกเปิดเผยออกมา แต่ตัวของริชาร์ดเองก็ยังสูญเสียงานและครอบครัวของเขาไปอยู่ดี นอกจากนี้ยังต้องทุกข์ทรมานจากผลของโรคติดเหล้า — การต่อสู้ที่พยายามจะกลืนกินเขาไปตลอดชีวิตที่เหลือ
ดร.ไรช์ไวน์นี่เองที่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเขา คุณหมอแนะนำริชาร์ดไม่ให้เบือนหน้าหนีจากความจริง แต่ให้เผชิญหน้ากับมันโดยตรง
——————–
– คุณคิดว่าคุณริชาร์ด เบราน์เข้าไปเกี่ยวข้องกับโยฮันได้ยังไงกันครับ?
“เพราะว่าคุณชูวัลด์จ้างเขา เขาน่าจะคุ้นเคยกับความสามารถในการสืบสวนของริชาร์ด เขาอยากให้ริชาร์ดตามหาลูกนอกสมรสของเขา เป้าหมายแรกที่เขาตามสืบคือเอ็ดมุนด์ ฟาห์เรน… ริชาร์ดสงสัยบางอย่างเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของฟาห์เรน และถึงชูวัลด์จะล้มเลิกการค้นหาหลังจากนั้น ริชาร์ดก็ยังกระหายที่จะตามหาความจริง การเป็นนักสืบมานานทำให้เขาสัมผัสได้ถึงบางอย่างที่ใหญ่และดำมืดที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้”
– และโยฮันก็เลยหันมาเล็งเขา
“มันไม่ได้เรียบง่ายขนาดนั้น ริชาร์ดรู้สึกได้มีใครซักคนอยู่เบื้องหลังฟาห์เรนอีกที เขาแค่บอกตรงๆไม่ได้ว่าใคร แต่เขาก็สังเกตเห็นหลายอย่าง…”
“คดีฆาตกรรมที่ไขไม่ได้สามคดีสมัยที่เขายังเป็นตำรวจนั้นล้วนแต่เกี่ยวข้องกับตัวชูวัลด์… หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเหยื่อทั้งสามคนคือคนที่ชูวัลด์สนิทด้วย…. นอกจากนี้สองคดีในนี้ก็มีคนที่ชื่อโยฮันมาเกี่ยวด้วย… และโยฮันก็เป็นชื่อที่ดร.เทนมะบอกว่าคือคนที่อยู่เบื้องหลังคดีฆาตกรรมคู่รักวัยกลางคนที่ไขไม่ได้นั่น… และสุดท้าย,เด็กหนุ่มผู้ชาญฉลาดคนหนึ่งที่ชื่อโยฮันก็กำลังอยู่ในคฤหาสน์ของชูวัลด์… พอเอาเรื่องทั้งหมดนี้มารวมกันมันก็ทำให้ริชาร์ดตกอยู่ในอันตรายสุดๆ”
– คุณคิดยังไงครับกับข่าวการเสียชีวิตของเขา?
“ตำรวจบอกว่าเขากระโดดลงมาหลังจากที่เขาเมา… แต่ฉันไม่เชื่อ ฉันรู้ว่ามันต้องมีอะไรบางอย่าง ฉันสาบานว่าฉันจะหาความจริงให้ได้ และฉันก็ลงโทษตัวฉันเองด้วยเหมือนกัน เพราะว่าฉันไม่ได้ช่วยริชาร์ดจริงๆด้วยซ้ำ ฉันแค่นั่งบนเก้าอี้แล้วรับฟังปัญหาเขาโดยไม่ได้สนใจอะไรเลย”
– แล้วคุณคิดว่าความจริงคืออะไรกันครับ โยฮันฆ่าคุณนักสืบเบราน์จริงๆเหรอ?
“ความจริงก็คือว่าฉันไม่รู้ แต่ฉันเชื่อว่าโยฮันไล่ต้อนริชาร์ดให้จนมุมด้วยคำพูด โยฮันคือชายที่จะฆ่าเราได้ด้วยคำพูด ริชาร์ดรู้สึกผิดอยู่ตลอดเกี่ยวกับเรื่องของสเตฟาน โยสต์… และฉันคิดว่าโยฮันคงจะแหย่เขาตรงจุดนั้น ไม่สิ, เขาต้องทำแน่”
– คุณรู้ไหมครับว่าโยสต์เคยอยู่ที่คินเดอร์ไฮม์ 511?
“ใช่ ฉันเพิ่งมารู้ตอนหลัง สิบเดือนก่อนที่สถานที่น่ารังเกียจนั่นจะถูกทำลาย โยสต์ถูกรับเป็นลูกบุญธรรมของใครซักคนและออกมาจากที่นั่น หลังจากนั้น เขาก็ไปๆมาๆตามที่ต่างๆก่อนจะมาจบที่มิวนิค ฉันคิดว่าเขาคงจะรู้จักกับโยฮัน”
– และนี่ก็คือช่วงที่คุณปรึกษากับดร.กิลเลนใช่ไหมครับ?
“ใช่ แล้วหลังจากนั้นเทนมะก็ช่วยชีวิตฉันไว้ หนึ่งในคนของโยฮัน… ไม่ ดูเหมือนกับหนึ่งในลูกศิษย์ของโยฮันมากกว่า ยังไงก็ตาม นายคนนี้ก็พยายามจะฆ่าฉัน แต่ก็,ในตอนนั้นฉันก็สะเพร่าด้วยเหมือนกัน เวลานั้นฉันยังไม่รู้ว่าเทนมะพยายามจะฆ่าโยฮันด้วยตัวเอง”
——————–
ดร.ไรช์ไวน์ยังคงเป็นคนสนิทและผู้คุ้มครองเทนมะจนกระทั่งเรื่องราวทั้งหมดจบลง ไม่ใช่เพียงเท่านั้น เขายังช่วยดูแลสภาพจิตใจของนีน่า ฟอร์ทเนอร์, อีวา ไฮเนอมันน์, คาร์ล ชูวัลด์และเหยื่อคนอื่นๆของโยฮัน ดร.กิลเลนบอกกับผมว่าทุกๆคนยกเว้นแต่เทนมะนั้นมีความเหมือนบางอย่างที่ทำให้พวกเขาถูกดึงดูดโดยโยฮัน แต่ผมเชื่อว่าดร.ไรช์ไวน์ก็เหมือนกับเทนมะตรงที่เขาคือด้านตรงข้ามของโยฮันอย่างแท้จริง เขาเป็นชายที่เป็นหนึ่งเดียวกับตัวเองอย่างถึงที่สุด
——————–
– คุณมีความเห็นยังไงบ้างครับเกี่ยวกับหนังสือภาพเล่มนั้น?
“อาใช่ มันก็ค่อนข้างแปลก เรื่องราวในหนังสือมันมีปรัชญาที่ดูจะขัดแย้งกัน มันเหมือนกับบางอย่างที่จะส่งผลกระทบอย่างมากกับเด็กถ้าเราอ่านให้เขาฟังด้วยรูปแบบเฉพาะบางอย่าง คำถามคือ’เกิดอะไรขึ้นกันแน่ในชมรมอ่านหนังสือ…’ “
“ถึงแม้จะเป็นจิตแพทย์กับคนไข้ แต่มันก็มีบางพื้นที่ที่ห้ามเหยียบย่างเข้าไปเด็ดขาด ทางเดียวที่เราจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในจิตใจของผู้ป่วยคือการช่วยให้พวกเขาได้เข้าใจตัวเองด้วยการปรากฏตัวด้วยขนาดในชีวิตจริง ไม่ใช่ใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าที่เราเป็นอยู่ แต่ชายคนนี้ โบนาพาร์ต้าคนนี้แหกกฎนั้น เขาทอดเงาขนาดมหึมาไปบนจิตใจของเด็กชายพวกนี้และทำให้พวกเงาเหล่านั้นสามารถควบคุมเด็กๆได้”
– แล้วคุณคิดยังไงกับอสูรกายที่ชื่อโยฮันในตอนนี้ หลังจากเรื่องราวทั้งหมด?
“อสูรกายเหรอ… ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอสูรกายหรอก โยฮันก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง… หลังจากเหตุเพลิงไหม้ในหอสมุดมหาวิทยาลัยมิวนิค เขาใช้ชีวิตของเขาในการพยายามเป็นมนุษย์… นั่นคือสิ่งที่ฉันคิด และในขณะที่เราเรียกผู้คนที่ฆ่าโดยไม่แม้แต่จะกะพริบตาว่า ‘อสูรกาย’ เราจะต้องไม่ถูกคำว่าฆาตกรรมบังตา เราต้องมองไปที่พวกเขาตรงๆ และมองพวกเขาในฐานะมนุษย์”
“เราต้องจำไว้ว่าพวกเขาไม่ใช่อสูรกาย แต่คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีชื่อเหมือนกับเราทุกคน… นั่นคือกุญแจสำคัญที่จะเข้าใจจริงๆว่าโยฮันนั้นเป็นอะไร”
แม้ว่าจะเป็นผู้ให้คำปรึกษากับทั้งนีน่าและอีวา แต่ดร.ไรช์ไวน์ก็ดูไม่พร้อมที่จะพูดถึงเรื่องของทั้งคู่ ผมตัดสินใจว่าควรพอแค่นี้หลังจากที่รู้สึกว่าเขาคงจะไม่พูดอะไรไปมากกว่านี้แม้ว่าผมจะกดดันก็ตาม ผมขอบคุณดร.ไรช์ไวน์ที่สละเวลามาให้ผมและออกมาจากออฟฟิศของเขา