ในปี 1999 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมต่างก็รับรู้ถึงเหตุการณ์เหล่านี้กันหมดแล้ว หนังสือพิมพ์ต่างๆก็ใช้คำอธิบายข้างล่างนี้ในการอธิบายว่าเทนมะเรียนรู้อะไรบ้างในระหว่างช่วงที่เขาตามหาเบาะแสของโยฮันและเหตุผลที่เขาต้องไปยังเมืองไฮเดลเบิร์ก
เทนมะที่พยายามหาจุดเชื่อมโยงของเหล่าคู่รักที่ไม่มีลูกกับโยฮันได้เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุแต่ละที่ และได้พบจุดเชื่อมโยงระหว่างพวกเขาเหล่านั้นจากการพูดคุยกับเพื่อนบ้านของพวกเขา
โคโลญ, ฮัมบูร์ก, ฮันโนเวอร์… เหล่าสามีภรรยาที่ถูกฆาตกรรมในเมืองเหล่านี้ต่างมีสิ่งที่เหมือนกัน ในอดีตพวกเขารับเลี้ยงเด็กชายคนหนึ่ง ไม่มีใครรู้ว่าเด็กคนนั้นเป็นหลานหรือลูกบุญธรรม แต่สิ่งเดียวที่เหมือนกันในทุกคดีคือ วันหนึ่งเด็กชายคนนั้นก็หายตัวไปเฉยๆ
ที่มิวนิค สถานที่สุดท้ายที่เทนมะเดินทางไป เทนมะก็พบแบบเดียวกัน แต่คราวนี้การสืบสวนของเขามาถึงทางตัน เขาคงจะหมดหนทางตรงนั้นหากเขาไม่ได้ยินคำพูดที่น่าประหลาดใจของชายแก่ตาบอดคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่อีกฝากหนึ่งของถนนที่บ้านของคู่รักที่ถูกฆ่าตั้งอยู่
ชายแก่คนนั้นคือเพื่อนคนเดียวของเด็กชายที่มีชื่อว่าฟรานซ์ และเด็กชายฟรานซ์ก็อาศัยอยู่กับสามีภรรยาไฮเนาส์ประมาณหนึ่งปี เด็กชายเป็นคนที่ชอบการเรียนรู้และฉลาดหลักแหลมเป็นอย่างมาก ในบางครั้งเขาจะบอกชายแก่คนนั้นว่าเทนมะมีพระคุณกับเขามากเพียงใด เด็กชายบอกว่าเทนมะ”เป็นยิ่งกว่าพ่อ” แต่คนที่เด็กชายรักยิ่งกว่าใครคือน้องสาวของเขาผู้ที่อาศัยอยู่ที่ไหนซักแห่งหนึ่ง เขาบอกว่าเมื่อเธออายุได้ยี่สิบปี เขาจะไปพบกับเธอ
ชายแก่คนนั้นบอกเทนมะว่าน้องสาวของเด็กชายน่าจะอาศัยอยู่ที่ไฮเดลเบิร์ก
พฤษภาคม 1995 เหตุการณ์อันน่าตกใจเกิดขึ้นในเมืองไฮเดลเบิร์ก คริสเตียเน่และอีริค ฟอร์ทเนอร์ และรวมถึง ยาค็อบ เมาเลอร์ นักเขียนข่าวจากหนังสือพิมพ์ไฮเดลเบิร์กโพสต์ที่แวะมาหาถูกยิงตายในบ้านของพวกเขา ครอบครัวฟอร์ทเนอร์มีลูกสาวคนหนึ่งที่เรียนที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กชื่อว่านีน่าที่หายตัวไปหลังจากการฆาตกรรม ในวันเดียวกันนั้นเอง ศพของคนสวนที่ถูกรัดคอจนเสียชีวิต อีวาน คูร์เท่น ก็ถูกพบที่ปราสาทไฮเดลเบิร์ก
โดยไม่มีการสืบหาความเชื่อมโยงใดๆระหว่างสองคดีนี้ ตำรวจรัฐเฮสเซินได้ร้องขอให้ตำรวจเมืองดุสเซิลดอร์ฟควบคุมตัวเคนโซ เทนมะ หัวหน้าแผนกศัลยกรรมของโรงพยาบาลดุสเซิลดอร์ฟไอซเลอร์ในฐานะผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมนายอีวาน คูร์เท่น และพยานคนสำคัญในคดีฆาตกรรมสามีภรรยาฟอร์ทเนอร์และยาค็อบ เมาเลอร์
นอกจากนี้แล้งทาง BKA ยังกดดันตำรวจในท้องที่ให้นำเทนมะมาสอบปากคำในคดีฆาตกรรมต่อเนื่องคู่รักวัยกลางคนอีกด้วย
ทีนี้เราลองมาดูลำดับเหตุการณ์พวกนี้กันอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ไฮเดลเบิร์กโพสต์ที่ทำงานเพื่อเปิดเผยความจริงในปี 1999 หลังจากที่เรื่องราวทั้งหมดจบลงแล้ว
หลังจากมาถึงไฮเดลเบิร์ก เทนมะแวะไปยังออฟฟิศเล็กๆของหนังสือพิมพ์ไฮเดลเบิร์กโพสต์และเริ่มต้นค้นบทความเก่าๆ เทนมะหวังว่าจะเจอกับเบาะแสบางอย่าง: บทความเกี่ยวกับการรับอุปการะลูกแฝดหรือเด็กชายซักคนที่หายตัวไป
เมาเลอร์ที่แปลกใจในความมุ่งมั่นของเทนมะได้ถามเหตุผลที่เขาทำแบบนี้และตัดสินใจที่จะช่วยเหลือ หลังจากการค้นหาทั้งคืนอันยาวนาน หนังสือพิมพ์ฉบับของเดือนตุลาคมปี 1986 ปรากฎบทความเล็กๆเกี่ยวกับเด็กชายอายุ 11 ปีที่หายตัวไป พวกเขารีบไปยังบ้านที่เด็กชายหายตัวไป — อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลของทางบริษัท วันเกิดของเด็กแฝดคู่นั้นคือวันนั้นเอง
ในเวลาต่อมา ทาง BKA ก็ยอมรับว่าสารวัตรตำรวจเมืองมันน์ไฮม์ เมสเนอร์และมึลเลอร์ คือผู้ที่ฆ่าครอบครัวฟอร์ทเนอร์ แต่ BKA ยังคงปฏิเสธการเชื่อมโยงคดีนี้เข้ากับโยฮัน อย่างไรก็ตาม ด้วยการตายของนายเมาเลอร์ในบ้านของครอบครัวฟอร์ทเนอร์ มันก็แทบจะไม่มีพื้นที่ให้สำหรับความสงสัยแบบนั้นเลย
ตอนนี้ นีน่า ฟอร์ทเนอร์ อีกครึ่งหนึ่งของคู่แฝด; น้องสาวของโยฮัน หลังจากสามปีผ่านไป ทั้งเธอและเทนมะก็กลับสู่สังคมและใช้ชีวิตตามปกติ นักข่าวและนักเขียนจากทั่วเยอรมนีต่างก็รีบไปที่ไฮเดลเบิร์กโดยหวังว่าจะได้สัมภาษณ์พิเศษ แต่เธอก็ยืนยันหนักแน่นว่าเธอนั้นปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ มหาวิทยาลัยที่เธอกลับไปเรียนได้ตั้งกลุ่มศาลเตี้ยขึ้นมาเพื่อไม่ให้สื่อเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย เหตุการณ์เช่นนี้ยังคงดำเนินไปจนกระทั่งผู้ว่าการรัฐออกมาฟ้องร้องเรื่องความพยายามอย่างไม่ลดละและการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อ เหตุการณ์สงครามข้อมูลนี้ถึงได้สงบลง
ในช่วงเวลานั้น ผมสนใจเป็นพิเศษว่าการพูดคุยแบบใดที่เทนมะและนีน่าพูดเกี่ยวกับพี่ชายฝาแฝดของเธอ… และควรที่จะทำเช่นไรกับโยฮันที่กลายเป็นอสูรกายไป
ทำไมนีน่าถึงไม่อยู่ในตอนที่เมสเนอร์และมึลเลอร์มาที่บ้าน และทำไมเทนมะถึงทิ้งเมาเลอร์ไว้ที่บ้านของคู่สามีภรรยาฟอร์ทเนอร์และออกไปที่ไหนซักแห่ง — สมมุติฐานของปริศนาเหล่านี้ที่ผมคาดไว้คือ เทนมะหาตัวนีน่าพบก่อนที่เธอจะได้กลับมาเจอโยฮันอีกครั้ง
เป็นที่ยอมรับกันว่าไฮเดลเบิร์กนั้นเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในเยอรมนี ส่วนปราสาทไฮเดลเบิร์ก สถานที่ที่เกิดเหตุฆาตกรรมนี้ ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคกลางและทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของท่านเคาท์ผู้ปกครองดินแดนตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งนี้ปราสาทยังมีชื่อเสียงในเรื่องของถนนขึ้นเขาที่ปูด้วยหิน
ในช่วงเวลานี้ของคดีโยฮัน (ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นคดีที่มีการฆาตกรรมมากที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมันยุคใหม่) นี้เองที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นทั้งการหายตัวไปของนีน่าและการตัดสินใจที่จะหนีตำรวจของเคนโซ เทนมะ
ถ้าผมอยากที่จะไขปริศนาทั้งหมด ผมก็คงต้องไปพูดคุยกับตัวของเคนโซ เทนมะเอง แต่ก็ไม่มีสื่อใดเลยที่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์ แม้กระทั่งคำร้องขอของผมเองก็ถูกปฏิเสธอย่างสุภาพโดยจดหมายที่ส่งมาผ่านทางองค์กร MSF [องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน: ผู้แปล] ที่เขากำลังทำงานให้ในตอนนี้ ลายมือที่สวยและภาษาเยอรมันที่ไร้ที่ติ(ยากที่จะนึกได้ว่าสิ่งนี้มาจากคนที่ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม่) บอกผมได้มากเกี่ยวกับตัวตนของเขา
ผมตัดสินใจที่จะรวบรวมทั้งประวัติเส้นทางอาชีพแพทย์ของเคนโซ เทนมะ และตัวตนของเขา ผ่านทางการสัมภาษณ์เพื่อนๆของเขาในญี่ปุ่นและเพื่อนร่วมงานในเยอรมนีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
MANGA DISCUSSION