ศึกยุทธ์ใต้ขุนเขาเงาจันทรา - บทที่ 466 มีรอยร้าวยิ่งต้องประวิงเวลา-2
บทที่ 466 มีรอยร้าวยิ่งต้องประวิงเวลา-2
……….
“คราวหน้า! คราวหน้าค่อยมาใหม่!”
ชายชรารับเขียนจดหมายเอ่ยขณะใช้มือขวาแสนผอมแห้งของเขาลูบหัวบัณฑิตจาง
จากนั้นก็เริ่มเก็บแผงอย่างเป็นระเบียบ
“ท่านแม่ เหตุใดเมื่อเขาเห็นท่านก็จะไปเสียแล้ว”
บัณฑิตจางถาม
“เพราะแม่ทำผิด…”
มารดาของบัณฑิตจางกล่าว
แม้นางจะไม่เข้าใจสิ่งที่ปัญญาชนเรียกว่านิสัยใจคอและความทะนงในตน
แต่เมื่อเห็นดังนี้นางก็ยังรู้สึกปวดใจนัก
หากไม่มาตั้งแผงย่อมไม่มีรายได้
เมื่อไม่มีรายได้ย่อมต้องทนหิว
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท้ายที่สุดก็กลายเป็นว่าแม้แต่แป้งย่างเปล่าๆ ที่ได้กินเพียงวันละชิ้นก็จะไม่ได้กินแล้ว
“ทำผิดเรื่องใดขอรับ”
บัณฑิตจางถาม
“ผิดที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของผู้อื่น…บางครั้งใช่ว่าความหวังดีจะทำเรื่องดีได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อผู้อื่นตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาแล้วก็จะไม่สามารถเปลี่ยนได้”
มารดาของบัณฑิตจางกล่าว
บัณฑิตจางฟังไม่เข้าใจความหมายในคำพูดนั้น
แต่เมื่อเห็นสายตาที่มารดาของตนมองชายชรารับเขียนจดหมายผู้นั้น เขาก็รู้สึกเคารพขึ้นมาในทันใด
ท่านอาที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของบิดาเขาผู้หนึ่ง เวลานี้ก็กำลังกินหนังสืออยู่
หนังสือจะกินได้อย่างไร
นี่เป็นวิธีเรียกขานของท้องถิ่นนี้ที่ใช้เรียกพวกสอนหนังสือ[1]
เป็นพวกสอนหนังสือ ก็คือกินหนังสือ
ไม่ใช่ว่ามีคำพูดที่ว่าในหนังสือมีข้าวฟ่างพันชนิดหรอกหรือ
เช่นนั้นเมื่อกินหนังสือ สิ่งที่กินเข้าไปก็คือข้าวฟ่างพันชนิด
บิดาพาบัณฑิตจางไปฝากตัวเป็นศิษย์กับเขา
ท่านอาผู้นั้นก็นับเป็นผู้ที่ได้รับมรดกของบรรพบุรุษมามากมาย
เขาจัดคฤหาสน์หลังใหญ่ที่มีลานถึงสามชั้นให้มีห้องว่างสองห้องเพื่อทำเป็นห้องเรียนและเปิดสอนหนังสือ
ห้องหนึ่งเอาไว้สอนเด็กที่เพิ่งเริ่มต้นเรียนเช่นบัณฑิตจางโดยเฉพาะ
ส่วนอีกห้องหนึ่งสอนเด็กโตเขียนตัวอักษรและบทความ
ล้วนเป็นเด็กๆ ในครอบครัวที่แซ่เดียวกันย่อมพูดจากันง่าย
เพียงแต่เรื่องการเขียนอ่านทำการศึกษานี้จะทำลวกๆ ไม่ได้
ท่านอาผู้นี้จึงเชิญบิดาของบัณฑิตจางมารับประทานอาหารและดื่มชาด้วยความเกรงอกเกรงใจ
แต่เมื่อทานอาหารเสร็จแล้ว พอวางตะเกียบลงบนโต๊ะ ทันใดนั้นก็มีสีหน้าขึงขัง ยืดหลังตรงและสั่งให้คนมาเก็บโต๊ะอาหารไป ตนเองขึ้นไปนั่งบนพื้นที่ยกขึ้นสูงและบอกกับบัณฑิตจางว่า
“นับแต่นี้ไป ข้าถามเจ้าประโยคหนึ่ง เจ้าตอบมาประโยคหนึ่ง ห้ามวอกแวก ตั้งสมาธิให้มั่น! ห้ามคิดเรื่องอื่น ห้ามลังเล ห้ามมองด้านข้าง ห้ามถามบิดาเจ้า!”
“ขอรับ ข้าน้อยต้องตั้งใจจดจ่อ ต้องตั้งสมาธิไม่วอกแวก ต้องไม่คิดเรื่องอื่น ต้องไม่ลังเล ต้องไม่มองด้านข้าง ต้องอยู่แต่กับตนเอง ต้องไม่ถามบิดา เพียงทำตามลิขิตฟ้าตามหลักคุณธรรม”
บัณฑิตจางกล่าว
กลับเอ่ยคำว่า ‘ต้อง’ ต่อกันถึงหกครั้ง
บิดาเป็นคนสอนวิธีการพูดจาเช่นนี้ให้เขาตั้งแต่อยู่ในเรือน ยิ่งไปกว่านั้นยังฝึกท่องมาจนคล่องแคล่ว
พ่อลูกสองคนไม่รู้ว่าฝึกฝนอยู่ในเรือนมากี่ครั้งแล้ว
แต่สภาพการในวันนี้ก็ยังทำให้บัณฑิตจางค่อนข้างตื่นเต้น
คำว่า ‘ต้อง’ สองคำแรกพูดออกมาไม่ชัดถ้อยชัดคำ …
แต่ความผิดเล็กน้อยนี้ไม่ได้ทำให้ภาพรวมเสียหาย
ทั้งยังเป็นหลานในตระกูลของตน ท่านอาของเขาจึงไม่ได้ถือสาหาความ
จากนั้นก็ให้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่
ซึ่งก็เป็นการทดสอบอุปนิสัยและคุณสมบัติส่วนตัวของบัณฑิตจางนั่นเอง
เด็กเล็กๆ เพียงนี้จะมีการไตร่ตรองได้อย่างไร
ระหว่างทางที่มานี้ บิดาบอกกับบัณฑิตจางว่าคำถามเหล่านี้ไม่ต้องฟังแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องตอบอย่างอ่อนน้อมว่า ‘ใช่’ แค่คำเดียวเป็นพอแล้ว
แต่บัณฑิตจางกลับคิดอย่างไรก็ไม่เข้าใจ…
ในเมื่อไม่ต้องฟัง แล้วเช่นนั้นเหตุใดยังต้องถามอีก
เช่นนี้แล้วก็ไม่เท่ากับว่าพูดมากมายแต่มีเพียงประโยคเดียวหรอกหรือ
บิดาของเขากลับบอกว่า ในหล้านี้มีหลายสิ่งที่ล้วนต้องดำเนินไปตามกระบวนการและต้องแสร้งวางท่าไป
ดูไปแล้วไร้ประโยชน์ สิ้นเปลืองเวลา
แต่หากขาดการวางท่าที่ดูเกินพอดีไป ผู้คนก็จะไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าใดนัก
ก็เหมือนกับตอนวันปีใหม่ สมัยนี้ผู้ใดก็ล้วนรู้ทั้งสิ้นว่าไม่มีสัตว์ประหลาดกินเด็ก
แต่อย่างไรก็ยังต้องเอารูปใหม่มาปิดทับรูปเก่าและต้องจุดประทัดไล่อยู่ดี
หากว่าขาดสิ่งใดไป ปีใหม่ก็จะไม่เหมือนปีใหม่
ไม่ว่าเรื่องใดล้วนมีสัญลักษณ์ของมัน
ของเหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ของปีใหม่ และนี่ก็คือสัญลักษณ์ของการไหว้ครูเพื่อเข้าเรียนหนังสือ
แค่จดจำสิ่งที่ตนกำชับไว้ จากนั้นก็เลียนแบบและวางท่าก็พอแล้ว
เรื่องนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเด็กฉลาดเช่นบัณฑิตจาง
เขาพูด คำว่า ‘ใช่’ โขยงหนึ่งไปอย่างสบายๆ
ท่านอาผู้นี้จึงยิ้มน้อยๆ ขณะพยักหน้า
ก่อนพาพ่อลูกสองคนนี้เดินไปยังห้องเรียน
ภายในห้องมีภาพเหมือนสิบภาพ
ทุกภาพล้วนมีแผ่นป้ายแผ่นหนึ่งกำกับอยู่
“หอทรงปัญ….”
“เงียบเสียง!”
ตอนที่บัณฑิตจางเอื้อมมือชี้นิ้วไปยังอักษรบนป้ายและอ่านออกมาทีละตัวอักษรนั้น ท่านอาผู้นี้ก็ตบมือเขาลงและบอกให้เขาเงียบปาก
บัณฑิตจางตื่นตกใจ ตอนที่หันมองบิดาก็เห็นว่าเขาเองก็มีใบหน้าเคร่งขรึมเช่นกัน
จึงทำได้เพียงเก็บความสงสัยเอาไว้ และยืนอยู่ตรงนั้นอย่างตั้งอกตั้งใจ
หลังจากท่านอาและบิดาของบัณฑิตจางก้มหน้าลงและนิ่งเงียบเป็นเวลาราวหนึ่งถ้วยชา พวกเขาก็เริ่มยุ่งขึ้นมา
คนหนึ่งจุดเทียน คนหนึ่งจุดธูป
บิดาของบัณฑิตจางถือเชิงเทียนอยู่ในมือและยืนอยู่ข้างๆ หลังจากท่านอาจุดธูปสามดอกก็เดินไปไหว้ตรงหน้าภาพเหมือนทีละภาพ เรียงจากขวาไปซ้าย
ธูปสามดอกคำนับสามครั้ง จากนั้นปากก็สวดพึมพำเบาๆ ครู่หนึ่ง
ท่านอาหันหลังให้บัณฑิตจางจึงมองไม่เห็นใบหน้าของเขา
แต่ริมฝีปากของบิดาก็ขมุบขมิบ เหมือนกับที่ท่านอาสวดอยู่ไม่ผิดเพี้ยน
หลังจากท่านอาโค้งคำนับเสร็จและปักธูปแล้ว จึงถอยจากตำแหน่งนั้นไปยืนอยู่ข้างๆ ก่อนกวักมือเรียกบัณฑิตจางและชี้ไปยังที่รองนั่งซึ่งวางอยู่ใต้ภาพเหมือน
บัณฑิตจางไม่เข้าใจความหมายของเขา หันหน้ามองบิดาด้วยสีหน้างุนงง
“โขกหัว…”
บิดาไม่กล้าพูดเสียงดัง จึงกระซิบบอกไปสองคำ
บัณฑิตจางก้าวออกไปอย่างสุขุม คุกเข่าทั้งสองข้างลงบนที่รองนั่ง ‘ตึงๆๆ’ เสียงโขกหัวดังสามครั้ง
โถงหลังแห่งนี้ปูด้วยแผ่นกระดาน ไม่ใช่ก้อนอิฐคราม
ข้างใต้แผ่นกระดานเป็นโครงกระดูกงู[2]ยกสูงขึ้นมา ข้างในจึงมีช่องว่าง
ช่วยให้คนที่โขกหัวไม่จำเป็นต้องออกแรงมากก็ทำให้เกิดเสียงดังก้องได้
บัณฑิตจางเป็นคนตรงไปตรงมา รูปเหมือนทั้งสิบรูป เขาโขกหัวไปสามสิบครั้ง ทุกรูปล้วนโขกหัวอย่างจริงจัง
ผลสุดท้าย บนหน้าผากจึงมีรอยแดงอยู่แถบหนึ่ง
ทางด้านซ้ายสุดของแถวภาพเหมือน มีโต๊ะเล็กๆ อยู่หนึ่งตัวและเก้าอี้มีที่วางมืออีกสองตัว
บนโต๊ะเล็กนั้นมีน้ำชากาหนึ่ง ถ้วยน้ำชาสองถ้วย
กาน้ำชามีฝาปิดอยู่แน่นหนา ปากของกาน้ำชากำลังมีไอร้อนพวยพุ่งออกมา
เพียงมองก็รู้ว่าเพิ่งต้มมาใหม่
บัณฑิตจางเห็นบิดาและท่านอาเดินไปยังโต๊ะเล็กๆ ตัวนั้น ต่างเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายนั่งก่อน จึงค่อยนั่งลงพร้อมกัน
ท่านอาเอ่ยปากก่อนว่าให้บัณฑิตจางยกน้ำชาให้บิดาและให้ตนเอง
ยกให้บิดาสามครั้งและท่านอาหนึ่งครั้ง
จนทำทั้งหมดนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว พิธีไหว้ครูจึงนับว่าเสร็จสิ้นลงโดยสมบูรณ์
เนื่องจากเป็นหลานในตระกูล ท่านอาของบัณฑิตจางจึงไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียน
หลังจากผลักเข้าผลักออกอยู่พักหนึ่ง สุดท้ายบิดาของบัณฑิตจางก็เก็บซองกระดาษแดงที่ใส่เงินเอาไว้กลับไป จากนั้นก็ไม่รู้ว่าล้วงเอาเนื้อแห้งพวงหนึ่งออกมาจากที่ใดและให้ไว้เป็นของกำนัลขอบคุณ
ครั้งนี้ท่านอากลับไม่ได้ปฏิเสธ
วันนี้ไหว้ครู ส่วนการเล่าเรียนจะเริ่มในวันพรุ่งนี้
เมื่อไปส่งถึงหน้าประตูใหญ่ จู่ๆ ท่านอาก็ถามว่า
“อวี่ซู ร่ำเรียนหนังสือแล้ววันหน้าอยากทำสิ่งใด”
“ข้าอยากเปิดแผงรับเขียนจดหมายขอรับ!”
บัณฑิตจางคิดสักพักจึงพูดออกไป
คำพูดนี้ย่อมทำให้บิดาของเขาทำหน้าไม่ถูก…
ส่งเจ้ามาร่ำเรียนหนังสือก็เพื่อให้เจ้าได้มีหน้ามีตา ให้เจ้าได้เป็นคนที่อยู่เหนือคน
จะมาเปิดแผงซอมซ่อ นี่นับว่าเป็นเรื่องใดกัน
นึกไม่ถึงว่าท่านอาผู้นี้กลับหัวเราะยกใหญ่และบอกว่า
“คนทำการแพทย์ท่องสารทิศเพียงเพื่อห้อยขวดน้ำเต้าช่วยคนยาก ปัญญาชนแยกแยะขาวดำ ช่วยคนปลดเปลื้องความวิตกขจัดความทุกข์ยาก ก้าวเท้าบนพื้นอย่างมั่นคง ขยันหมั่นเพียรไม่มองไกลเกินจริง เป็นยอดอ่อนที่ดีจะต้องร่ำเรียนหนังสือได้ดีเป็นแน่!”
บิดาของบัณฑิตจางรับคำอย่างถ่อมตนด้วยความเกรงใจไปสองสามประโยค
ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายช่วยแก้หน้าให้ตนหรือว่าคิดดังนี้จริงๆ
ดีที่ในวันต่อมาบัณฑิตจางร่ำเรียนได้ไม่เลวจริงดังว่า
เด็กคนอื่นๆ ลำพังแค่ เรื่อง ‘สัมผัสคล้องจอง’ ก็ต้องใช้เวลาอ่านถึงครึ่งเดือนสองครั้ง แต่เขากลับใช้เวลาเพียงสามถึงห้าวันเท่านั้น
บทอาขยาน ‘กระบี่สามฉื่อ เกาทัณฑ์หกคัน นกนางแอ่นจรคู่เป็ดป่าหวน’ ล้วนจดจำอยู่ในหัวได้ทั้งหมด
เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจึงเลื่อนชั้นไปในห้องข้างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สามารถเรียนจับพู่กันเขียนบทความแล้ว
และเมื่อถึงยามนี้เองเขาจึงเพิ่งเข้าใจว่าคำจำพวก ‘อนึ่ง ที่ ซึ่ง อัน’ และ ‘จื่อ (ขงจื๊อ) ว่าไว้ บทประพันธ์กล่าวว่า’ ยามบิดาโต้เถียงกับมารดาเหล่านั้น มาจากที่ใด
“อวี่ซูร่ำเรียนวิชาต้องทำจริงจัง ตาไม่มองนอกหน้าต่าง ใจไม่คิดเรื่องไร้สาระ ห้ามประเดี๋ยวออกนอกประตู ประเดี๋ยวก็ลงไปข้างล่าง จงจำไว้ว่าห้ามโลภแสวงหาทางลัดให้เร็วขึ้น”
ท่านอาพร่ำบอกกับบัณฑิตจางหนแล้วหนเล่า
ด้วยกลัวว่าเขาจะเป็นเช่นบิดาที่สุดท้ายกลายเป็นเพียงปัญญาชนครึ่งหนึ่ง
แต่เรื่องในแดนมนุษย์ กลัวสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น
เพราะคำพูดนี้ ทำให้บัณฑิตจางเกิดรอยร้าวระหว่างท่านอาผู้นี้เสียแล้ว
ไม่เคยคิดเลยว่า ท้ายที่สุดเขาก็เป็นเหมือนบิดาของเขา
โยนพู่กัน ทิ้งแท่นฝนหมึก
และนับได้ว่าเป็นเพียงปัญญาชนครึ่งหนึ่ง
ในวันที่บัณฑิตจางออกจากสำนักศึกษา ภายนอกมีหิมะตกหนัก
ท่านอาผู้นั้นถือไม้เรียวอยู่ในมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งเพิ่งเก็บแท่นฝนหมึกที่บัณฑิตจางโยนทิ้งกลับมา วิ่งกระย่องกระแย่งตามไปห้าลี้
ด้วยสูงวัยแล้ว แข้งขาไม่คล่องแคล่ว แล้วจะไล่ตามบัณฑิตจางที่วิ่งราวกระต่ายกระโดดได้อย่างไร
ท่านอาหอบหายใจหนักขณะมองร่างที่อยู่ตรงหน้าห่างออกไปทุกทีและเล็กลงทุกที จนเมื่อภาพนั้นกลายเป็นเพียงจุดเล็กๆ สีดำ เขาก็ล้มหัวทิ่มลงบนพื้นหิมะ
ไม่รู้ว่าหมดสติไปนานเท่าใดจึงมีคนมาพบเข้าและช่วยกลับไป
บัณฑิตจางกังวลว่าเมื่อกลับไปก็จะถูกดุด่าถูกตี
จึงไม่ยอมหันหลังกลับและไปซ่อนตัวอยู่ที่เรือนของสหายสามถึงห้าวันเสียเลย
กระทั่งเขากลับไปและเดินผ่านหน้าคฤหาสน์ของท่านอาผู้นั้น สิ่งที่เห็นกลับมีแต่ผ้าขาว…
เดิมทีท่านอาผู้นั้นก็ร่างกายอ่อนแอ ทั้งเป็นปัญญาชนมือไม้อ่อนแอไร้กำลัง
อากาศหนาวพื้นยะเยือก เขาหมดสติไปบนหิมะหลายชั่วยาม หลังจากกลับเรือนก็ล้มเจ็บจนลุกไม่ขึ้น…
นอนซมติดต่อกันหลายวันหลายคืน ไม่อาจทานได้ไหวจึงสิ้นใจไป
เมื่อวานนี้เพิ่งครบเจ็ดวันหลังจากเขาเสีย วันนี้จึงเป็นวันเคลื่อนศพ
บางคนร่ำไห้ฟูมฟาย บางคนจ้องเขาด้วยสายตาโกรธเกรี้ยว
นั่นเพราะท่านอาของเขาผู้นี้เป็นคนซื่อตรง เรียบง่ายและรอบรู้ที่สุดในละแวกนี้
แม้แต่ผู้มีอันจะกินทั้งหลายได้พบเขาบนถนนก็ยังต้องลงจากม้า ลงจากเกี้ยวมาประสานมือคำนับและเอ่ยว่า “ท่านสบายดีหรือไม่”
นึกไม่ถึงว่ากลับต้องเอาชีวิตของตนมาทิ้งในฤดูหนาวปีนี้เพราะไล่ตามศิษย์ไม่ได้ความ
บัณฑิตจางเห็นบิดามารดาของตนท่ามกลางผู้คน
บิดาเพียงมองเขาอย่างสงบนิ่งครั้งหนึ่ง จากนั้นก็เก็บสายตากลับไป
คนที่ยืนอยู่ใกล้ประตูที่สุดก็คือชายชราที่ตั้งแผงรับเขียนจดหมาย
ชายชราจ้องมองบัณฑิตจางนิ่งๆ ครู่หนึ่งไม่ได้กล่าวคำใด
สุดท้ายก็เพียงถอนหายใจหนักๆ
ในดวงตาเปี่ยมด้วยความรู้สึกผิดหวัง
ทันใดนั้นบัณฑิตจางก็นึกถึงคำที่มารดาเคยบอกกับเขาที่ตลาดในวันนั้น
เกรงว่าจิตใจของบัณฑิตจางในเวลานี้ก็คงเป็นเช่นเดียวกับมารดาของเขา
แม้ไม่รู้ว่าตนเองทำสิ่งใดผิด แต่เมื่อละเมิดกฎเกณฑ์ ก็คือทำผิดแล้ว
ครั้นแล้วบัณฑิตจางจึงไม่กล้าเข้าประตูไป ทำได้เพียงยืนอยู่ข้างหลังหลักมัดม้าที่ข้างประตูอย่างขลาดกลัว
ก้มหน้าลง หันหลังให้ เอาสองมืออุดหู
ทำเช่นนี้ก็จะมองไม่เห็นสายตาชิงชังรังเกียจของผู้คน ทั้งไม่ได้ยินคำด่าทอของพวกเขา
หลังจากฝังศพ แขกแยกย้าย
ยามดึกดื่นคนสงัด บัณฑิตจางจึงอาศัยจังหวะนี้วิ่งปรี่เข้าไปตรงหน้าป้ายวิญญาณของท่านอาในชั่วอึดใจเดียว แล้วโขกหัวดังลั่นเก้าสิบเก้าครั้งติดต่อกัน
ในขณะที่เขากำลังจะโขกหัวครั้งที่หนึ่งร้อยจู่ๆ ก็มีมือข้างหนึ่งมาประคองหน้าผากเขาไว้
เมื่อช้อนตาขึ้นมองกลับเป็นบิดา
บิดาของบัณฑิตจางไม่เอ่ยสิ่งใด แต่คุกเข่าลงข้างกายเขาและโขกหัวหนักๆ สามครั้ง
เมื่อลุกขึ้นมา ก็หยิบพัดเล่มหนึ่งออกมาจากช่องในแขนเสื้อและส่งให้บัณฑิตจาง
“นี่เป็นมรดกของท่านอาจารย์ ก่อนจากไปกำชับว่าจะต้องมอบให้เจ้า”
บิดาของเขาเอ่ย
บัณฑิตจางฉงนจนอึดอัดใจ ไม่รู้ว่าเหตุใดต้องมอบพัดเล่มนี้ให้ตน
หากอยากให้เขาร่ำเรียนหนังสือต่อไป ไม่ใช่ว่าควรมอบพู่กันหมึกกระดาษแท่นฝนหมึกทำนองนี้หรอกหรือ
เมื่อบิดาเห็นบัณฑิตจางรับไปแล้วจึงจากไป
บัณฑิตจางถือพัดนี้เล่นอยู่ในมือ ก่อนเดินออกประตูไปเช่นกัน
………………………………………
[1] พวกสอนหนังสือ เป็นคำเรียกอาจารย์ที่มีความหมายลบ
[2] เป็นโครงกระดูกงู เป็นรูปแบบการสร้างอาคารชนิดหนึ่ง ไม้ต่อกันเป็นโครงข่าย มีช่องว่าง
……….